วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2554

ความพึงพอใจ

ความหมายของความพึงพอใจ
มีนักวิชาการและนักการศึกษา หลายท่านได้ให้ความหมายของความพึงพอใจไว้ ดังนี้
วิจิตรา แสงชัย (ศุภาพร วงศ์ใหญ่, 2547 : 38 ; อ้างอิงมาจาก วิจิตรา แสงชัย, 2543: 11) ได้กล่าวว่า ความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน หมายถึง ความรู้สึกที่ผู้ปฏิบัติงานมีทัศนคติที่ดีต่อการปฏิบัติงาน คิดค้นวิธีทำงานให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติงานที่ดี และจะทำให้องค์การบรรลุวัตถุประสงค์ความต้องการ
ไชยยัณห์ ชาญปรีชารัตน์ (2543: 52) ได้กล่าวว่าความพึงพอใจ หมายถึง ความรู้สึกของบุคคลที่มีต่องานที่ปฏิบัติในทางบวก คือ รู้สึกชอบรักพอใจ หรือมีเจตคติที่ดีต่องาน ซึ่งเกิดจากการได้รับตอบสนองความต้องการทั้งทางด้านวัตถุ และด้านจิตใจ เป็นความรู้สึกที่มีความสุขเมื่อได้รับความสำเร็จ ตามความต้องการหรือแรงจูงใจ
ปนัดดา ยอดระบำ (2544 : 6) ได้กล่าวว่า ความพึงพอใจเป็นความรู้สึกที่ดีที่ชอบที่พอใจหรือที่ประทับใจของบุคคลต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ได้รับโดยสิ่งนั้นสามารถตอบสนองความต้องการ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ บุคคลทุกคนที่มีความต้องการหลายสิ่งหลายอย่างและมีความต้องการหลายระดับซึ่งหากได้รับการตอบสนองก็จะเกิดความพึงพอใจ
บังอร ควรประสงค์ (ศุภาพร วงศ์ใหญ่. 2547 : 39 ; อ้างอิงมาจาก บังอร ควรประสงค์. 2544 : 46) ได้กล่าวว่าความพึงพอใจ หมายถึง ความรู้สึกหรือทัศนคติทางบวกของบุคคลที่มีต่อสิ่งหนึ่ง ซึ่งสิ่งนั้นสามารถตอบสนองให้แก่บุคคลนั้นได้ ความพึงพอใจย่อมมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของบุคคลที่ได้รับ
วราภรณ์ ช่วยนุกิจ (2544 : 8) ได้กล่าวความพึงพอใจ หมายถึง ความรู้สึกบวกของบุคคลที่มีต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเนื่องมาจากความสำเร็จ ความประสงค์ที่ตนคาดหมายไว้ เป็นความรู้สึกที่ปรับเปลี่ยนได้เสมอขึ้นอยู่กับสถานการณ์ สภาพแวดล้อม ช่วงเวลาในขณะนั้น ๆ ความพึงพอใจเป็นพลังแห่งการสร้างสรรค์ สามารถกระตุ้นให้เกิดความภูมิใจ มั่นใจ